วิธีการถนอม “เกียร์” เพื่อยืดอายุการใช้งานได้นาน…
เคล็ด(ไม่)ลับ
ดูแลชุดเกียร์ของคุณให้อยู่กับรถไปนานๆ
หลายคนรู้จัก “เกียร์” ว่าเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่เปลี่ยนอัตราส่วนการทดรอบระหว่างเครื่องยนต์กับล้อ ควบคุมให้รถสามารถเคลื่อนที่ได้ ซึ่งในปัจจุบันเกียร์มี 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา และ เกียร์อัตโนมัติ โดยลักษณะการใช้งานก็จะแต่งต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรคำนึงคือการถนอมเกียร์ทั้ง 2 ประเภทให้ใช้ได้นาน
“วิธีถนอม เกียร์ ให้ใช้งานได้นาน” ชุดเกียร์ไม่ได้ทำหน้าที่แค่รับแรงจากเครื่องยนต์แล้วส่งไปที่ล้อเท่านั้น เพราะเกียร์เป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ช่วยให้เราขับเคลื่อนรถ ถ้าไม่มีชุดเกียร์จะส่งผลให้เครื่องยนต์เผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์และสิ้นเปลืองน้ำมัน รถทุกคันล้วนมีหน้าปัดบอกความเร็วรอบเครื่อง การสร้างความคุ้นเคยกับหน้าปัดรอบเครื่องจะช่วยให้เราเข้าใจชุดเกียร์ได้มากขึ้น
การเปลี่ยนเกียร์สามารถสังเกตง่ายๆ เมื่อเรากดคันเร่งเพิ่มความเร็วรถจนถึงจุดหนึ่งที่รถจะทำการเปลี่ยนเกียร์ รอบเครื่องก็จะขึ้นสูงชั่วขณะ จากนั้นก็จะลดต่ำลง ความเร็วรถก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าเรากดคันเร่งหรือเมื่อเซ็นเซอร์ส่งข้อมูลว่ารถกำลังเร่ง แต่ ECU กลับยังไม่สั่งการให้เปลี่ยนเกียร์ก็จะส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานรอบสูงกินน้ำมันมากขึ้น
นอกจากนี้พฤติกรรมการขับรถของคุณยังส่งผลต่ออายุการใช้งานของ “เกียร์” ด้วยครับ มาดูกันว่าเกียร์แต่ละประเภทต้องปฎิบัติอย่างไรถึงจะใช้ได้นานๆ
เกียร์ธรรมดา
1. ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันตามระยะทางทุกๆ 20,000 กม.
2. ทำการตรวจสอบรอยรั่วของ Seal ว่ามีปัญหาและเกิดรอยรั่วตรงจุดไหนหรือไม่ เช่น Seal ท้ายเกียร์ (อยู่ระหว่าง Adepter เกียร์ Main – Transfer Case), Switch เกียร์ถอย, Seal หน้าแปลนเกียร์ 4 เป็นต้น
3. หากต้องเดินทางไกลหรือต้องใช้รถลุยหนัก ลุยน้ำ สมบุกสมบัน หลังใช้งานควรเช็กสภาพน้ำมันเกียร์ เนื่องจากอาจมีน้ำ เข้าไปผสมในน้ำมันเกียร์ และส่งผลให้ชุดเกียร์บางส่วนเกิดความชำรุดเสียหาย
เกียร์อัตโนมัติหรือเกียร์ออโต้
1. ไม่คิกดาวน์บ่อยๆ
การคิกดาวน์ (Kickdown) ก็คือการเหยียบแป้นคันเร่งให้ลึกกว่าปกติเพื่อเพิ่มความเร็วอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากทำการคิกดาวน์บ่อยๆ ชุดเกียร์ได้รับแรงบิดที่เพิ่มขึ้นกะทันหันเกินความจำเป็น จะทำให้ชุดเกียร์เกิดความเสียหาย ชำรุดเร็วกว่าที่เวลากำหนด การขับขี่ที่ดีควรค่อยๆ เพิ่มความเร็วจะดีที่สุดครับ
2.ใช้เบรกมือเวลาจอดบนทางลาดชัน
คนส่วนใหญ่มักจะใส่เกียร์ P เวลาจอดรถบนทางลาดชัน ป้องกันไม่ให้รถไหล แต่วิธีที่ดีเวลาจอดรถบนทางลาดชันควรใช้เบรกมือควบคู่ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะหลีกเลี่ยงไม่ให้สลักเกียร์ต้องรับน้ำหนักรถมากเกินไปนั่นเอง
ส่วนวิธีจอดรถบนทางลาดชันที่ถูกต้อง คือ หลังจอดรถเสร็จเรียบร้อย อย่าเพิ่งใส่เกียร์ P ในขณะที่เท้าของคุณยังอยู่ที่แป้นเบรกให้ทำการดึงเบรกมือขึ้นจนสุด จากนั้นจึงค่อยๆ ปล่อยเท้าออกจากแป้นเบรก จนมั่นใจได้ว่ารถจอดหยุดนิ่งไม่ไหลแล้ว จึงทำการผลักตำแหน่งเกียร์ไปยัง P ซึ่งวิธีนี้เป็นการผลักภาระการรับน้ำหนักตัวรถไปที่เบรกแทน แต่ถ้าจะเคลื่อนตัวรถออกจากที่จอด ให้ทำการปลดเกียร์ออกจากตำแหน่งเกียร์ P ก่อน (เลือกใส่เกียร์ R N หรือ D ได้หมด) แล้วปลดเบรกมือ ทำตามวิธีนี้จะช่วยถนอมเกียร์ให้สามารถได้นานๆ ได้ครับ
3.รถวิ่งไม่ควรปล่อยเกียร์ว่าง
ในขณะที่รถวิ่งอยู่ ไม่ควรปล่อยเกียร์ว่างแล้วปล่อยให้รถไหลเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะถ้าเข้าเกียร์ N น้ำมันหล่อลื่นในห้องเกียร์จะหยุดไหลเวียน พร้อมกันนั้นเกียร์ก็กำลังหมุนอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนสูงกว่าปกติ ทำบ่อยๆ จะส่งผลให้น้ำมันเกียร์เสื่อม ประสิทธิภาพการหล่อลื่นต่ำลง จนเกียร์เกิดความเสียหายได้นั่นเอง
4.เปลี่ยนเกียร์ให้สัมพันธ์กับความเร็ว
โดยทั่วไปตำแหน่งเกียร์ออโต้ผู้ขับขี่สามารถปรับอัตราทดลองเองได้ ทั้ง+, – หรือตำแหน่ง 3, 2, L (แตกต่างกันไปแล้วแต่รถแต่ละรุ่น) อย่างไรก็ตามตำแหน่งเกียร์ D สามารถครบคลุมในชีวิตประจำวัน จึง ไม่ควรปรับเกียร์เป็นตำแหน่งอื่นบ่อยๆโดยไม่จำเป็น
5.เปลี่ยนนำมันเกียร์บ่อยๆ
การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะเวลาที่กำหนดตามคู่มือ จะช่วยหล่อลื่นและปกป้องถนอมชุดเกียร์ แต่ถ้ารถรุ่นไหนไม่ได้ระบุว่าให้เปลี่ยนหรือระบุว่าไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตลอดอายุการใช้งาน สามารถตั้งระยะเวลาเปลี่ยนน้ำมันเกียร์เองได้ ซึ่งรถแต่ละรุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 60,000 กิโลเมตร ทั้งนี้เพราะสภาพอากาศร้อนในบ้านเราส่งผลทำให้น้ำมันเกียร์เสื่อมเร็วกว่าปกตินั่นเอง
เรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ
- เติมน้ำมันแบบไหน ประหยัด และคุ้มกว่ากัน
- ฝาหม้อน้ำสำคัญแค่ไหน
- สัญญานเตือนก่อนโช๊คอัพพัง
- อาการแผงคอยล์ร้อนอุดตัน
- คุยกับช่างเค คลิก
- คุยกับเราได้ที่ https://www.facebook.com/toyotakmotors