เมื่อสัญญาณไฟหน้าปัดรถ แจ้งเด้งเตือน มันกำลังสื่ออะไร อันตรายหรือไม่…
ไฟหน้าปัดเด้ง
สัญญาณไฟหน้าปัดรถยนต์ผมเชื่อว่าหลายคนที่ขับรถส่วนใหญ่ มักจะดูแผงหน้าปัดรถยนต์ ดู สัญลักษณ์หน้าปัด ออกแค่เข็มวัดความเร็วกับน้ำมันเท่านั้น แบบนี้ไม่ดีเลยนะครับ ต้องรีบปฏิวัติตัวเองใหม่ให้เป็นคนที่ใส่ใจและรอบรู้ในทุกๆด้าน เพราะเรื่องรถยิ่งรู้มาก ยิ่งขับขี่ปลอดภัยมากขึ้น ปัญหาต่างๆน้อยลงครับ ฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า สัญญาณไฟหน้าปัดรถยนต์ มีอะไร แต่ละอันบ่งบอกอะไรได้บ้าง ไปทำความรู้จักกันเลยครับ
ปัญหาของ “สัญญาณไฟหน้าปัดรถยนต์” ขึ้นเตือน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เจอกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หัดขับหรือผู้มากประสบการณ์ในการขับขี่ ก็ยังไม่ค่อยรู้จักสัญลักษณ์ต่างๆ กันสักเท่าไหร่
อันดับแรกเรามารู้จักความหมายของ ไฟหน้าปัดรถ แต่ละสีกันก่อนครับ…..
สัญลักษณ์ที่มีสีเขียวว หมายถึง อุปกรณ์มีการเปิดใช้งาน หรือ กำลังทำงานอยู่
สัญลักษณ์ที่มีสีส้ม หรือสีเหลือง แสดงว่ากำลังมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบเครื่องยนต์ ให้ทำการตรวจสอบ การทำงานตามความเหมาะสม
สัญลักษณ์ที่มีสีแดง หมายความว่าอันตรายให้หยุดการขับขี่ และทำการตรวจสอบโดยเร็ว
ต่อมาเรามาทำความรู้จักกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ บน แผงหน้าปัดรถยนต์ กันดีกว่าครับ….
1.สัญญาณไฟเลี้ยว / ไฟกระพริบฉุกเฉิน
สัญลักษณ์ไฟเลี้ยวทั้งสองจะกะพริบเมื่อมีการใช้ไฟกะพริบฉุกเฉิน ซึ่งจะอยู่ด้านหน้าของรถที่เป็นหลอดสีส้ม เป็นสัญญาณบอกว่าต้องการเปลี่ยนทิศทางหรือไปด้านไหน หรือแม้กระทั่งการเปิดไฟกระพริบเมื่อเราต้องการให้สัญญาาณไฟฉุกเฉินก็ได้เช่นกันครับ
2.ไฟแสดงไฟตัดหมอกหน้า
การใช้ไฟตัดหมอก จะใช้เมื่อทัศนวิสัยในการมองเห็นพื้นผิวของถนนไม่ชัดเจน เช่น ตอนมีหมอกบนพื้นถนนในช่วงฤดูหนาว หรือเมื่อเราขับขี่รถยนต์ตอนฝนตกหนัก ไฟตัดหมอกจะช่วยให้เรามองเห็นทางข้างหน้าระยะใกล้ได้ดีขึ้น
3.ไฟเตือนระบบเบรก
สัญญาณไฟหน้าปัดรถ ที่เตือนระบบเบรก มักเกิดขึ้นใน 2 กรณี ได้แก่ เมื่อมีการดึงเบรกมือ และลดเบรกมือยังไม่สุด ซึ่งสัญลักษณ์นี้จะมีไฟแจ้งเตือนขึ้นมา แต่ถ้าหากว่าคุณลดเบรกมือลงแล้ว ยังมีไฟขึ้นอยู่ อาจจะท่าไม่ดีแล้วครับ ต้องรีบตรวจสอบระบบเบรกรถของคุณโดยเร็ว โดยวิธีการเช็คอันดับแรกก็คือต้องดูระดับน้ำมันเบรก เพราะส่วนใหญ่สัญลักษณ์มักจะแจ้งเตือนเมื่อน้ำมันเบรกลดลงต่ำกว่าระดับปกติครับ แต่ในรถยนต์บางรุ่นจะแยกระหว่างระบบเบรกกับเบรกมือออกจากกัน ระบบเบรกจะเป็นเครื่องหมายตกใจ ส่วนเบรกมือเป็นตัว P ครับ เพื่อทำความเข้าใจในความแตกต่างให้มากขึ้น ขอแนะนำว่าให้อ่านและศึกษาข้อมูลจากคู่มือประจำรถแต่ละคันให้ละเอียดก่อนใช้รถครับ
4.ไฟเตือนประตูเปิด
จงรู้ไว้เลยว่าถ้ามีสัญญาณไฟรูปรถยนต์ที่มีบานประตูทั้ง 4 เปิดค้าง นั่นแสดงว่ารถของคุณอาจมีประตูใดประตูหนึ่งที่ยังไม่ปิด หรือปิดแล้วแต่ยังปิดไม่สนิท ควรตรวจสอบและปิดใหม่อีกครั้งครับ โดยสัญลักษณ์เตือนการปิดประตูไม่สนิท จะมีขั้นตอนดังนี้ครับ
-หากขับรถที่ความเร็วต่ำกว่า ประมาณ 7 กม./ชม. สัญลักษณ์แสดงข้อมูลจะสว่างขึ้น
-หากขับรถที่ความเร็วสูงกว่า ประมาณ 7 กม./ชม. สัญลักษณ์เตือนจะสว่างขึ้น
-หากฝากระโปรงหลังและประตูท้ายปิดไม่สนิท สัญลักษณ์เตือนจะสว่างขึ้นพร้อมกับการแสดงภาพอธิบายขึ้นในจอแสดงข้อมูล ควรหยุดรถในที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด และปิดฝากระโปรงหลังประตูท้ายให้สนิทครับ
5.ไฟเตือนการชาร์จไฟ
เมื่อมีสัญญาณไฟรูปแบตเตอรี่ขึ้นมา ไม่ได้หมายความว่าแบตเตอรี่ในรถของคุณเสื่อมหรือถึงเวลาต้องเปลี่ยนตัวใหม่นะครับ แต่มันกำลังแจ้งเตือนว่าการทำงานของไดร์ชาร์จทำงานผิดปกติ หากเจอสัญลักษณ์นี้ แต่คุณยังคงขับรถยนต์ต่อไป ระบบไฟฟ้าในรถยนต์จะอ่อนตัวลงเรื่อย ๆ การทำงานของวิทยุก็จะติด ๆ ดับ ๆ แรงลมของแอร์เบาลง และไฟหน้าจะค่อย ๆ หรี่ลงจนเครื่องยนต์ดับไปในที่สุด ซึ่งคาดเดาไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุนี้
5.1.ไดชาร์จเสีย
ไดชาร์จทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้ระบบไฟในรถยนต์และชาร์จแบตเตอรี่ไปในตัว เมื่ออยู่ ๆ มันเกิดไม่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้ระบบรถอย่างเช่นปกติ ระบบไฟในรถยนต์จึงต้องดึงไฟจากแบตเตอรี่ไปใช้งานแทน จากนั้นเมื่อแบตหมดระบบต่าง ๆ ภายในรถก็จะหยุดทำงาน
5.2.สายพานไดชาร์จขาด
หากสายพานไดชาร์จขาด ต้องรีบจอดรถในที่ปลอดภัยเพื่อลงมาตรวจดูสายพานเป็นอย่างแรกก่อนครับ
6.ไฟเตือนการคาดเข็มขัดนิรภัย
เมื่อมีการสตาร์ทรถ แต่คนขับยังไม่ใส่เข็มขัดนิรภัย สัญลักษณ์นี้จะกระพริบแจ้งเตือนขึ้นมาทันที ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ และไฟเตือนจะดับลงเมื่อมีการใส่เข็มขัดนิรภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในรถบางรุ่นไม่ได้มีแค่สัญลักษณ์เตือนเท่านั้นนะครับ แต่จะเพิ่มเสียงไปด้วยเพื่อสร้างความรำคาญใจ จนคุณต้องยอมใส่เข็มขัดนิรภัย แถมบางรุ่นยังทำในส่วนของที่นั่งข้างคนขับด้วย
7.ไฟแสดงเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติ (MIL)
หากสัญญาณไฟรูป “เครื่องยนต์” ขึ้นมาเมื่อไหร่ นั่นหมายความว่า “มีเรื่องแล้ว” เพราะแสดงว่าเครื่องยนต์ของรถคุณกำลังมีปัญหา เรียกได้ว่าปัญหาครอบจักรวาลที่ไม่อาจรู้ได้เลยทีเดียว เนื่องจากไฟแสดงเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติ ที่ไม่บ่งชี้ว่าเป็นจุดไหน จึงหาทางแก้ไขด้วยตนเองได้ยาก เช่น ค่าออกซิเจนผิดปกติ สายพานเกินระยะกำหนด หรือ ตัว ECU มีปัญหา และอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อเห็นสัญลักษณ์นี้ขึ้นมาจึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ต้องรีบนำเข้าศูนย์บริการทันทีครับ โดยทางช่างเขาจะทำการเสียบอุปกรณ์กับช่อง OBD (On-Board Diagnostics) ซึ่งจะมีค่า Error แจ้งมา จึงจะสามารถรู้ได้ว่าเครื่องยนต์มีปัญหาตรงส่วนไหน อย่างไรก็ตามเมื่อสัญญาณนี้โชว์ไฟขึ้นแม้รถส่วนใหญ่จะยังทำงานได้ปกติ แต่ในบางรุ่น (โดยเฉพาะรถทางฝั่งยุโรป) จะจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถนำรถเข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการได้ทันท่วงที และเพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์เสียหายมากกว่าเดิมครับ
8.ไฟแสดงการใช้ไฟสูง
ในการขับขี่ทางไกลเป็นเวลานานมักต้องใช้ความเร็วสูง เช่น การขับรถไปต่างจังหวัดตอนกลางคืน มักมองเส้นทางไม่ชัดเจน จึงต้องระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้น โดยเฉพาะทางโค้งและเลี้ยว การเปิดไฟสูงจะถูกใช้เมื่อต้องการมองเห็นล่วงหน้าทางไกล เพื่อจะได้ปรับลดความเร็วในระยะที่เรายังสามารถควบคุมรถได้อยู่ แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้ไฟสูงนะครับ เพราะจะเป็นการรบกวนการขับขี่ของคนอื่นได้ครับ
9.ไฟเตือนน้ำมันเชื้อเพลิงระดับต่ำ
เมื่อสัญญาณไฟรูปหัวจ่ายน้ำมันโชว์ขึ้นมา โปรดรู้ไว้ว่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถของคุณกำลังเหลือน้อยลงทุกที จงเตรียมเงินและเริ่มมองหาปั๊มน้ำมันได้แล้ว เพราะรถของคุณจะวิ่งได้อย่างมากอีกประมาณ 50 กิโลเมตรเท่านั้น ฉะนั้นอย่าละเลยสัญญาณนี้เป็นอันขาดเลยครับ ถ้าไม่อยากรถยนต์ดับกลางทาง
10.ไฟอุณหภูมิหม้อน้ำ
ในปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ไม่ได้มีมาตรวัดความร้อนหม้อน้ำมาให้แล้ว แต่คุณสามารถตรวจสอบการทำงานได้จากสัญญาณไฟหม้อน้ำ ซึ่งจะระบุได้ 2 สถานะ คือ
10.1.ไฟเตือนอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นต่ำ คือ หม้อน้ำอยู่ในระดับที่เย็นกว่าปกติ จะขึ้นเป็นไฟสีน้ำเงินหรือสีฟ้า และเป็นรูปปรอทวัดความร้อนหม้อน้ำ เพื่อแจ้งเตือนว่าอุณหภูมิของเครื่องยนต์ในขณะนั้น กำลังอยู่ในช่วงของการวอร์มเครื่องยนต์ ยังไม่ควรเร่งเครื่องหรือขับขี่ด้วยความเร็วสูง โดยไฟเตือนจะติดจนกว่าอุณหภูมิของเครื่องยนต์จะสูงขึ้นจนถึงอุณหภูมิการทำงาน หลังจากนั้นจึงสามารถค่อย ๆ ออกตัวหรือขับขี่ไปเรื่อย ๆ ก่อนได้ แต่ยังไม่ควรใช้ความเร็วสูงมากนัก และเมื่อไฟเตือนดับลงจึงสามารถใช้ความเร็วได้ตามปกติครับ..
10.2.ไฟเตือนอุณหภูมิน้ำหล่อร้อนสูง คือ หม้อน้ำอยู่ในระดับร้อนสูงผิดปกติ ไฟจะเตือนเป็นสีแดง พร้อมรูปปรอทวัดความร้อนหม้อน้ำ สัญญาณไฟนี้จะโชว์ขึ้นเมื่อเครื่องยนต์มีความร้อนสูงเกินกว่าระดับอุณหภูมิทำงาน ซึ่งหมายความว่าอุณหภูมิของเครื่องยนต์มีระดับที่สูงกว่าระดับที่เครื่องยนต์จะทำงานได้ตามปกติ หากยังใช้อยู่อาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้
สิ่งสำคัญที่ควรจำ คือ หากเกิดกรณีที่หม้อน้ำร้อนผิดปกติ ควรจอดรถโดยทันที เพื่อป้องกันความเสียหายกับระบบเครื่องยนต์ครับ
11.ไฟเตือนระบบเบรกแบบป้องกันล้อล็อค (ABS)
สาเหตุที่สัญญาณไฟหน้าปัดนี้โชว์ขึ้นและดับไป อาจเกิดจากการนำรถไปขับลุยน้ำ ทำให้เซ็นเซอร์หรือระบบไฟฟ้าเกิดการลงกราวด์ พอแห้งแล้วไฟก็จะดับไปเอง หรือแม้กระทั่งขับบนถนนแห้ง ๆ ไฟเกิดติดขึ้นมา แล้วจู่ ๆ ก็หายไป ยิ่งควรนำรถเข้าอู่เพื่อตรวจเช็คโดยด่วนนะครับ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ ไฟเตือนระบบเบรกแบบป้องกันล้อล็อค ABS แสดงขึ้นมา เช่น ผ้าเบรกหมด หรือ ระดับน้ำมันเบรกต่ำกว่ากำหนด เป็นต้นครับ
ที่สำคัญระหว่างกำลังขับขี่รถ ถ้ามีสัญญาณไฟเตือนระบบเบรกแบบป้องกันล้อล็อก ABS ขึ้นมา ให้รีบจอดรถหรือนำรถเข้าเช็คโดยด่วน ถึงแม้ระบบเบรกจะยังทำงานอยู่ แต่เมื่อมีการเบรกกะทันหันระบบ ABS อาจจะไม่ทำงาน ซึ่งมีผลต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของคุณเป็นอย่างมาก
แม้สัญญาณไฟบนหน้าปัดรถจะมีเยอะแยะมากมายจนแทบจำกันไม่หมด แต่รู้จักไว้เป็นพื้นฐานก็จะดีมาก ๆ เลยครับ เพราะนั่นหมายความว่าการใช้รถของคุณจะปลอดภัยเพิ่มขึ้นกว่าที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ฉะนั้นสัญญาณไฟบนหน้าปัดรถยนต์จึงไม่ควรละเลยกันนะครับ …เพื่อนๆสามารถนำรถมาตรวจสอบได้ที่ศูนย์บริการโตโยต้า เค.มอเตอร์ส ทั้ง 17 สาขา ได้เลยครับ หรือว่าจะโทรนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ Call Center 02-662-6555 ^^