“สายพานขาด” งานเข้าแน่!! ดูแลและตรวจสอบอย่างไรไม่ให้ขาด จนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด
เช็คสายพาน
ก่อนงานเข้า เพื่อความปลอดภัยของคุณ
การเช็คสายพานเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเสมอ เพราะหากสายพานเกิดขาดขึ้นมากลางทาง หรือในขณะที่ขับรถอยู่ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ และการรู้จักทำความรู้จักข้อมูลและการทำงานของสายพานก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์สุดวิสัย คุณจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด
สายพานรถยนต์ “ขาด” งานแข้าแน่!!
สำหรับเครื่องยนต์ส่วนที่จำเป็นต้องดูแลมีหลายส่วน นอกเหนือจากเรื่องหลักๆ เช่น ของเหลวต่างๆ และสายพานก็สำคัญไม่แพ้กัน ในรถยนต์บางรุ่นก็จะมีทั้งสายพานราวลิ้นหรือที่เรียกกันว่าสายพานไทม์มิ่ง และสายพานหน้าเครื่อง เพราะสายพานมีหน้าที่ถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์เพื่อส่งไปให้อุปกรณ์อื่นทำงาน เช่น ไดชาร์จ ปั๊มน้ำหรือ ปั๊มเพาเวอร์ …สายพานไทม์มิ่งและสายพานหน้าเครื่องมีหน้าที่ในการทำงานอยู่คนละส่วน แยกกันอย่างชัดเจน เพราะบางคนยังเข้าใจว่าสายพานทั้ง 2 แบบ คือสายพานตัวเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้วมันคนละเรื่องกันเลย
สายพานหน้าเครื่อง
มีหน้าที่ในการถ่ายทอดกำลังที่ได้จากเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้าไปขับเคลื่อนชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะต้องทำงานให้กับเครื่องยนต์หรืออำนวยความสะดวกในการขับขี่ เช่น ไดชาร์จ ปั๊มน้ำ หรือ ปั๊มเพาเวอร์ ซึ่งจะมีมู่เล่ย์หน้าเครื่องเป็นตัวส่งกำลังผ่านสายพานไปหมุนอุปกรณ์ เกิดการทำงานของอุปกรณ์ โดยสายพานหน้าเครื่องที่พูดถึงก็มีอยู่ เช่น สายพานเพาเวอร์ สายพานไดชาร์จ สายพานปั๊ม สายพานแอร์ ฯลฯ
อายุการใช้งานสายพานหน้าเครื่อง
สายพานหน้าเครื่องมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 50,000 กิโลเมตร หรือ 2 – 3 ปี แต่ถ้าไม่มั่นใจก่อนถึงระยะให้เปิดฝากระโปรงหน้าสามารถตรวจเช็คเองได้ เพราะมันอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน เพียงแค่สังเกตดูว่ามีรอยแตกลายงา เนื้อยางแตกเป็นบั้งๆ หรือสายพานมีเส้นด้ายหลุดหลุ่ยออกมามากหรือไม่ ฯลฯ หากมีอาการตามที่กล่าวมา ให้เปลี่ยนใหม่ทันที เพราะหากใช้ต่อไปถ้าสายพานขาดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสายพานจะใช้งานไม่ได้ทันที อาจทำให้ระบบเสียหายมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย และปัญหาของสายพานที่มักพบเจอได้บ่อยๆ ก็คือเรื่องของเสียงที่ดังเอี๊ยดอ๊าด โดยเฉพาะตอนที่เครื่องยนต์ยังเย็นหรือตอนที่เพิ่งสตาร์ทใหม่ๆ ซึ่งสาเหตุที่สายพานดังอาจเป็นเพราะความตึงของสายพานหย่อนยานลงไป
วิธีแก้ไขก็คือ
การตั้งระยะความตึงของสายพานใหม่และหลังจากตั้งใหม่แล้ว ให้เช็คดูด้วยว่าหากกดสายพานลงไปมันต้องมีความตึง ไม่หย่อนลงไปเหมือนเดิมอีก แต่ในรถใหม่ๆ ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้สายพานเพียง 1 – 2 เส้น คอยทำหน้าที่ถ่ายทอดกำลังชิ้นส่วนต่างๆ ที่กล่าวมา ซึ่งมันสามารถถ่ายทอดกำลังไปยังอุปกรณ์ต่างด้วยเส้นเดียว และง่ายกับการบำรุงรักษา ไม่ต้องปรับตั้งกันบ่อยๆ เหมือนก่อน พูดง่ายๆ คือไม่ต้องปรับตั้งเลยเพราะมีตัวปรับตั้งอัตโนมัติอยู่แล้ว แค่คอยตรวจเช็คสภาพตัวสายพานมันแค่นั้น
สายพานราวลิ้น
หรือที่เรียกกันว่าสายพานไทม์มิ่งเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญมากชิ้นหนึ่ง ประกอบอยู่ภายในเครื่องยนต์ที่มีมาตั้งแต่รถยนต์รุ่นเก่าจนถึงเครื่องยนต์ในปัจจุบัน ซึ่งมันทำหน้าที่ถ่ายทอดกำลังจากเพลาข้อเหวี่ยงส่งต่อไปยังเพลาราวลิ้น เพื่อให้เพลาราวลิ้นหมุนและกดกระเดื่องวาล์วเพื่อเปิดปิดวาล์วไอดี-ไอเสีย ทั้งนี้หากมีการผิดจังหวะเกิดขึ้น ก็จะส่งผลให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหายได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายได้หันกลับมาใช้ “โซ่ไทม์มิ่ง” ซึ่งมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวกว่า
อายุการใช้งานของสายพานราวลิ้น
สายพานไทม์มิ่งที่ได้มาตรฐานจะถูกกำหนดมาจากผู้ผลิตรถยนต์ โดยเครื่องยนต์ดีเซลส่วนใหญ่กำหนดให้เปลี่ยนที่ 150,000 แสนกิโลเมตร ขณะที่เครื่องยนต์เบนซินที่ 100,000 แสนกิโลเมตร แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นนิสัยการขับขี่ การตั้งที่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป ที่ทำให้เจ้าสายพานไทม์มิ่งอาจหมดอายุไขก่อนเวลาอันควร แนะนำว่าเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนก็เปลี่ยนเลยจะดีกว่า อย่ารอ!! เพราะอย่าลืมว่าแม้กำหนดระยะทาง 100,000-150,000 กิโลเมตรก็จริง แต่ในชีวิตประจำวันเครื่องยนต์ติดแต่รถไม่ได้วิ่งก็เยอะนะครับ เพราะถ้าสายพานราวลิ้นขาดกลไกของราวลิ้นยังคงทำงานอยู่ โดยครื่องยนต์ยังไม่หยุดทำงาน ในรถยนต์บางรุ่นจะส่งผลทำให้วาล์วชนกับลูกสูบจนเกิดความเสียหาย อาทิ วาล์วไอดี-ไอเสียคด-หัก-ลูกสูบแตกเสียหาย แต่อย่างไรก็ตามในเครื่องยนต์หลายๆ รุ่นได้มีการออกแบบให้หัวลูกสูบทำมุมหลบเพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าว ฉะนั้นควรเลือกใช้สายพานไทม์มิ่งที่ได้มาตรฐาน เปลี่ยนตามระยะที่กำหนด ถึงแม้สภาพภายนอกยังดูดีก็ตาม ทั่สำคัญควรเปลี่ยนลูกรอกสายพานไปพร้อมกันด้วยเลยเพราะมันก็ล้ามาพร้อมๆ กันครับ…
สุดท้ายนี้หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสายพาน ไม่ว่าจะเส้นไหนก็ควรเช็คเบื้องต้นด้วยตัวเองหรือรีบปรึกษาช่างให้ตรวจเช็คหาสาเหตุ เพราะถ้าวันใดสายพานเกิดขาดขึ้นมา แทนที่จะเสียเงินแค่ค่าสายพานเส้นใหม่ เผลอๆ อาจต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อซ่อมในจุดอื่นที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วยก็ได้ครับ
อ่านเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ
ที่มา : ช่างเค